wiennat

Imakita Sangyou

คำว่า 今北産業 แปลเป็นไทยแบบสวยๆ ได้ว่า อิมาคิตะอุตสาหการ ฟังดูแล้วอาจจะฟังดูเหมือนชื่อกิจการหรือชื่อบริษัทอะไรซักอย่าง แต่ความจริงแล้วกลับไม่ได้มีความหมายแบบนั้นเลยแม้แต่นิดเดียว


คำว่า 今北産業 เป็นคำสแลงในภาษาญี่ปุ่น ว่ากันว่ามีต้นกำเนิดมาจากบอร์ด 2ch โดยคันจิสี่ตัวนี้ที่อ่านว่า อิมาคิตะซังเกียว มันไปพ้องกับคำว่า

  • 「いま」หรือ「今」อ่านว่า อิมะ แปลว่าตอนนี้
  • 「きた」อ่านว่า คิตะ แปลว่า มาแล้ว และพ้องเสียงกับคำว่า 「北」ที่แปลว่าทิศเหนือ
  • 「3行」อ่านว่า ซังเกียว แปลว่า สามบรรทัด และพ้องกับคำว่า 「産業」ที่แปลว่าอุตสาหกรรม

พอเอาทั้งสามคำมาติดกัน มันก็จะกลายเป็นภาษาปากที่ถ้าเคยเรียนภาษาญี่ปุ่นมา หลายคนก็น่าจะพอเข้าใจได้ว่ามันย่อมาจากเต็มๆ ว่า 「今来た(から)、(状況を)3行(で説明して)」 หรือแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ”เพิ่งมาอะ ขอสรุปสั้นๆ สามบรรทัด” นั่นเอง ให้ลองนึกถึงว่าเราล็อกอินเข้ามาในห้องแชทหรือในเกม แล้วเพื่อนกำลังคุยอะไรกันอยู่ซักอย่างแต่เราไม่เข้าใจเลย ก็เลยบอกว่า “อิมาคิตะซังเกียว” เพื่อให้เพื่อนๆ อธิบายให้ฟัง

อ๋อ มันคือ TL;DR เวอร์ชันญี่ปุ่นสินะ

พอถึงตรงนี้คงมีคนคิดว่า อิมาคิตะซังเกียว คือ TL;DR หรือ Too long. Don’t read เวอร์ชันภาษาญี่ปุ่นสินะ

แต่จริงๆ มันมีความต่างกันอยู่นิดหน่อยตรงที่ว่า อิมาคิตะซังเกียว นั้นมักจะถูกใช้ในบริบทที่ผู้พูดตามสถานการณ์ไม่ทันเพราะเพิ่งเข้าสู่บทสนทนาในช่วงที่สถานการณ์ดำเนินไปมากแล้ว ก็เลยขอให้คนอื่นอธิบายให้ ยกตัวอย่างเช่นเพื่อนของเรากำลังเล่น MMORPG กันอยู่แล้วกำลังวางแผนจะทำอะไรซักอย่าง แต่เราที่เพิ่งล็อกอินเข้ามาในเกมก็จะไม่รู้ว่ากำลังคุยเรื่องอะไรอยู่ ก็เลยขอให้คนอื่นอธิบายให้ฟัง (คือต่อให้ตามอ่านได้ก็อาจจะนานหรือก็ตามไม่ทันอยู่ดี) แต่เราจะไม่ค่อยเห็นคนใช้ในกรณีที่ว่า ผู้พูดคิดว่าเนื้อหายาวเกินไปแล้วเลยอยากจะขอสรุปให้คนอื่นสั้นๆ แบบเดียวกับที่เราเห็นในการใช้งาน TL;DR

และเนื่องจากคำว่า อิมาคิตะซังเกียว เป็นคำสแลงที่ใช้มากในหมู่วัยรุ่น เราจึงไม่ค่อยเห็นในการใช้งานในชีวิตประจำวันเท่าไหร่

ส่วน TL;DR นั้นอาจจะใช้ในกรณีที่ผู้พูดรู้สึกว่า “ที่กำลังคุยกันอยู่ยาวมาก ไม่อ่านละ ไปสรุปมาให้หน่อย” หรืออาจจะใช้ในบริบทที่ผู้พูดรู้สึกว่าเนื้อหามันยาวมาก เลยต้องการจะสื่อว่า “สำหรับคนที่ขี้เกียจอ่าน เดี๋ยวจะสรุปให้ฟัง” ก็ได้

นอกจากนี้การใช้งาน TL;DR ในบริบทที่ผู้พูดอยากให้คนอื่นสรุปเนื้อหาให้นี่ฟังแล้วเหมือนเป็นประโยคคำสั่ง ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าผู้พูดเป็นคนก้าวร้าวได้ ดังนั้นควรต้องระวังการใช้งานให้ดี

ตัวอย่างการใช้งาน

เมื่อเห็นคนพูดถึงแม่แตงโมกันเต็มฟีด แต่ไม่เข้าใจว่าพูดถึงเรื่องอะไรก็เลยบอกว่า “เรื่องแม่แตงโม อิมาคิตะซังเกียว” หรือ “ขอสรุปสั้นๆ สามบรรทัดเรื่องแม่แตงโม”

以上